คนบางแสน

 

ในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์


ก้าวที่ 54 : วัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์


ออกจากสถานที่ 9 เราจะย้อนกลับมาที่ถนน Suq Khan al – Zait เดินต่อไปทางทิศใต้เล็กน้อย
สุดถนนเลี้ยวขวาเข้าถนน Suq al – Dabbagha เดินไปจนสุดถนน เลี้วขวาจะเป็นลานกว้างด้านหน้าของวัด
(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย)


วัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sspulchre) ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่ากรุงเยรูซาเล็ม ส่วนทางออร์ธอด็อกซ์เรียกว่า วัดคืนพระชนม์ชีพ (Church of the Resurrection)


เป็นวัดที่สร้างครอบเนินกลโกธาหรือเขากัลวารีโอ และหลุมฝังศพของพระเยซูเจ้า


ทางซ้ายมือของลาน เป็นวัดน้อยนิกายออร์ธอร์ด๊อกซ์  ทางด้านขวามือเป็นวัดของรัสเซียนออร์ธอร์ด๊อกซ์  วัดนิกายอาร์เมเนียน อารามของกรีกนิกายอับราฮัม  วัดน้อยของชาวเธิโอเปียน 


วัดน้อยเซ็นต์ยอห์น นิกายอาร์เมเนียน


วัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ เป็นจุดหมายสำคัญที่สุดของผู้แสวงบุญมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 และกระทั่งปัจจุบัน ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก
คริสตชนในเยรูซาเลมได้จัดฉลองเคารพหลุมศพของพระเยซูเเจ้ามาโดยตลอด แม้กรุงเยรู๙าเลมจะถูกทำลายลงโดยทหารโรมัน ใน ค.ศ. 66 แต่ในปี ค.ศ. 135 จักรพรรดิเฮเดรียนต้องการทำลายล้างศาสนาคริสต์ จึงให้สร้างวิหารเทพเจ้าอาโฟรไดต์ ทับบนหลุมศพ


หลังจากที่จักรพรรดิคอนสแตนตินกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว เพื่อเป็นการสร้างศรัทธา และความเชื่อในศาสนาให้แก่ประชากร พระองค์และพระราชมารดาเฮเลนา ก็ได้สร้างวัดบนเนินกลโกธาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 4  (ปี ค.ศ. 325) วัดนี้เป็นวัดใหญ่ และสวยงามมาก แต่ก็ถูกพวกเปอร์เซียทำลายเสียหายมาก ในปี ค.ศ. 614


ค.ศ. 630 จักรพรรดิเฮราเดรียสกอบกู้เยรซาเล็มคืนได้ จึงมีการสร้างวัดขึ้นใหม่ แต่ก็ถูกทำลายลงอีกครั้งโดยกาหลิบฮาคิม ชาวมุสลิม ในปี ค.ศ. 1009 หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อมุสลิมพ่ายสงคราม ก็มีการสร้างวัดขึ้นใหม่ และเมื่อกองทัพครูเสดเข้ามาถึงกรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ. 1099 ก็ได้มีการขยายวัดและอาคารทั้งหมด พร้อมตกแต่งให้สวยงามด้วยหินและโมเสค


ตัวอาคารมีความซับซ้อนมาก ภายในอาคารยังมีวัดเล็กๆ อีกหลายวัด และที่น่าพิศวงคือ อาคารวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์นี้ แบ่งส่วนการครอบครองโดย คริสตชนหลายนิกาย ทั้ง กรีกออร์ธอด็อกซ์ อาร์เมเนียนอาโปสโตลิก โรมันคาทอลิก เอธิโอเปียน ออร์ธอด็อกซ์ ซีเรียน ออร์ธอด็อกซ์ และคอปติกส์ออร์ธอด็อกซ์


เมื่อเรามองวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์จากลานด้านหน้า ผู้แสวงบุญทั้งหลายต่างก็รู้สึกงงและแปลกใจ ตามที่ได้อ่านพระคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องพระมหาทรมานและถูกตรึงกางเขน แต่ละคนต่างวาดภาพเนินเขากัลวารีโอ ที่มีลักษณะเป็นเนินคล้ายหัวกะโหลก อยู่นอกกำแพงเมือง บริเวณใกล้กันมีสวน มีต้นไม้ และมีคูหาขุดเป็นโพรงเข้าไปในก้อนหิน


แต่ต้องมาพบอาคารที่แออัด มองจากด้านหน้า เห็นซุ้มประตูทางเข้า 2 ซุ้ม แต่ถูกปิดด้วยกำแพงหิน 1 ซุ้ม ไม่เห็นโดม ไม่เห็นแม้จะเป็นอาคารตัววัดที่สวยงาม โอ่อ่า เมื่อเทียบกับวัดอื่นๆ เช่นที่นาซาแรธ หรือวัดนานาชาติ แต่ที่นี่ถือว่าเป็นสถานที่ๆ ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของคริสตชน ไม่เน้นที่ความโอ่อ่าของตัวอาคาร


บนเส้นทางมหาทรมาน มีจุดที่กำหนดเป็นสถานที่ 14 แห่ง ที่เป็นเรื่องราวของการแบกกางเขนมายังเนินกลโกธาของพระเยซูเจ้า มี 9 สถานที่ อยู่ตามถนนและเส้นทางต่างๆ ส่วนอีก 5 สถานที่ จะอยู่ในวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์


ทางขวามือของซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้า มองเห็นบันไดหินสักสิบขั้นแคบๆ มีประตูทางเข้าเป็นซุ้มเล็กๆ แค่เป็นลูกกรงเหล็ก มีโดมเล็กๆ เดิมเป็นทางขึ้นเนินกัลวารีโอของพวกครูเสด ตอนหลังเป็นวัดน้อยของชาวแฟรงค์ ตรงนี้แหละ คือ


สถานที่ 10 ที่พระเยซูเจ้าถูกถอดพระภูษา ส่วนนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าชม เราได้แค่ไปชะเง้อมองเข้าไปข้างใน เป็นวัดเล็กๆ ไม่เห็นมีอะไร

23เมื่อบรรดาทหารได้ตรึงพระเยซูเจ้าแล้ว ก็ได้นำฉลองพระองค์มาแบ่งออกเป็นสี่ส่วน เอาไปคนละส่วน ส่วนเสื้อยาวของพระองค์นั้นไม่มีตะเข็บ   ทอเป็นผืนเดียวตลอดตั้งแต่คอจนถึงชายเสื้อ
24เขาจึงพูดกันว่า "เราอย่าแบ่งเสื้อตัวนี้เลย     เราจับฉลากกันเถิดดูว่าใครจะได้"   ดังนี้  ก็เป็นความจริงตาม พระคัมภีร์ที่ว่าพวกเขานำเสื้อผ้าของข้าพเจ้ามาแบ่งกันและจับสลากเสื้อยาวของข้าพเจ้าบรรดาทหารก็ได้ทำเช่นนี้

(ยน 19:23–24)


Back to Mainpage